ระบบผลึก ( Crystal system )
1. ระบบไอโซเมทริก ( Isometric System )
มีแกน 3 แกนเท่ากันและตัดกันที่กึ่งกลางเป็นมุมฉากรูปผลึกในระบบนี้ที่เห็นชัดคือ รูปลูกเต๋า ได้แก่ กาลีนา
ไพไรต์ รูปอื่นๆหรือแบบอื่นคือแบบลูกตะกร้อ เช่น การ์เนต เป็นต้น
2. ระบบเททราโกนาล ( Tetragonal System )
มีแกน 3 แกน ตัดตั้งฉากกันที่กึ่งกลาง 2 แกนยาวเท่ากันแกนที่ 3 อาจจะยาวหรือสั้นกว่าก็ได้ รูปหน้าตัดของแร่ ในระบบนี้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เช่น แร่ดีบุก เซอร์คอน เป็นต้น
3. ระบบออร์โทรอมบิก ( Orthorhombic System )
มีแกน 3 แกน ตัดตั้งฉากที่กึ่งกลางแต่ยาวไม่เท่ากันเลย รูปหน้าตัดจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น โทแพช สตอไรไลด์ ( Staurolite ) แบไรต์ กำมะถัน
4. ระบบโมโนคลินิก ( Monoclinic System )
มีแกน 3 แกนยาวไม่เท่ากันเลย 2 แกนตัดตั้งฉากกัน ส่วนแกนที่ 3 ตัดทำมุมกับ 2 แกนแรก เช่น ยิปซัม ออร์โทเคลส
5. ระบบไทรคลินิก ( Triclinic System )
แกน 3 แกนไม่เท่ากันและตัดไม่ตั้งฉากกันเลย เช่น ไมโครไคลน์ คาลแคนไทด์
6. ระบบเฮกซะโกนาล ( Hexagonal System )
มี แกน 4 แกน 3 แกน อยู่ในแนวราบ ยาวเท่ากันและตัดทำมุม 60 องศาซึ่งกันและกัน แกนที่ 4 ยาวหรือสั้น กว่าก็ได้และตั้งฉากกับ 3 แกนแรก เช่น ควอร์ตซ์ คอรันดัม เป็นต้น
แร่ที่เกิดเป็นผลึกนั้นอาจจะมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจนหรือมีขนาดเล็ก หรือเล็กมากจนต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ นอกจากนี้แร่ยังอาจเกิดซ้อนกันหรือรวมกันเป็นกลุ่มเป็นกอเป็นกระจุก หรือบางชนิดไม่แสดงหน้าผลึกชัดและนอก จากนั้นยังแสดงลักษณะรูปร่างเฉพาะแบบหนึ่งๆ ( Habit ) ซึ่งมีประโยชน์ในการนำมาประกอบพิจารณาในการ ตรวจวิจัยแร่ด้วยเช่นกัน
ลักษณะรูปร่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ยังมีประโยชน์ในด้านที่ทำให้เป็นที่สนใจเพราะลักษณะแปลก และสวยงามตาม ธรรมชาติซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับนักสะสมไว้เป็นหินประดับ และมีคุณค่าเป็นสมบัติวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง สำหรับที่จะมี ไว้ในพิพิธภัณฑ์เพราะลักษณะแร่แปลกๆ บางชนิดนั้นพบได้ยากมาก
แร่ในรูปร่างลักษณะอื่นๆ แร่อาจเกิดในลักษณะต่างๆกัน ซึ่งเราจัดเรียกลักษณะที่ไปตามที่เห็นรูปร่างภายนอก ได้แก่
1. ผลึกชัด ( Crystallized )
ลักษณะผลึกเห็นได้ชัด ส่วนที่จะเข้าในระบบไหนก็ศึกษาพิจารณาอีกต่างหาก เช่น ผลึกควอร์ตซ์ ( Quartz Crystal ) รูป 6 เหลี่ยมอยู่ในระบบเฮกซะโกนาล เป็นต้น
2. ผลึกไม่ชัด ( Crystalline )
ลักษณะผลึกไม่ชัดเจนและผลึกไม่สมบูรณ์เพราะเกิดปนกัน และเบียดเสียดหรือซ้อนกันในระหว่างที่มี
การตกผลึก ( แคลไซด์ในหินปูน )
3. ผลึกเล็กละเอียด ( Crytocrystalline )
มองดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดโพลาไรส์ จึงจะเห็นรูปผลึก เช่น
คาลซิโดนี ( Chacedony )
4. ไม่เป็นผลึก ( Amorphous )
เพราะอณูภายในจัดตัวกันระเกระกะไม่เป็นระเบียบ เช่น โอปอ
5. รูปเข็ม ( Acicular )
ลักษณะเรียวยาวคล้ายเข็มเล็กๆ เกิดรวมกันอยู่มากมายแต่ละอันเห็นได้ชัด เช่น เนโทรไลต์ ( Natrolite )
6. รูปใบมีด ( Bladed )
ลักษณะเป็นแผ่นแบนยาวแบบใบมีด คือหนาด้านหนึ่งและบางอีกด้านหนึ่ง เช่น สติบไนด์ ไคยาไนต์
7. รูปกิ่งไม้ ( Dendritic )
ลักษณะคล้ายกิ่งไม้ที่แตกแขนงออกไป แร่มักจะเกิดตรงระนาบชั้นหินหรือตรงรอยแยกรอยร้าว เช่น แมงกานีส
8. รูปรังตาข่าย ( Recticulated )
ผลึกแร่ก่ายเกาะขัดกันไปมาไม่เป็นระเบียบดูคล้ายตาข่ายร่างแหหรือรังนก เช่น รูไทล์ในควอร์ตซ์ ( เข็มทอง )
9. รูปรัศมี ( Radiated )
ผลึกแร่กระจายออกจากจุดกึ่งกลางอันหนึ่งในลักษณะเป็นรัศมีออกไปเช่น สติบไนต์
10. รูปเม็ดน้ำตาล ( Drusy )
ผลึกแร่เป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายเม็ดน้ำตาลทรายเกาะกันอยู่ที่ผิว
11. รูปแท่ง หรือ เสา ( Columnar )
ผลึกเกิดเป็นแท่งหรือลำใหญ่กว่ารูปเข็มและเรียงรวมกัน เช่น ฮอร์นเบลนด์ อะราโกไนต์
12. รูปเส้นใย ( Fibrous )
ผลึกอาจเป็นจะแข็งหรืออ่อนนิ่มแบบใยไหมก็ได้ เช่น แร่ใยหิน
13. รูปพวงองุ่น ( Botryoidal )
ผลึกเป็นลูกกลมหรือกลมครึ่งซีก เกิดเกาะกันเป็นกลุ่มดูคล้ายพวงองุ่น เช่น คาลซิโดนี ไซโลมิเลน
14. รูปไต ( Teniform )
ลักษณะภายนอกมนเรียบคล้ายรูปไต เช่น ฮีมาไทต์ ไพโรลูไซต์
15. รูปฝาชี ( Mammillary )
ทรงมน เช่น ฮีมาไทด์
16. รูปกาบหรือแผ่นๆ ซ้อนกัน ( Foliated )
แร่เกิดเป็นแผ่นๆ หรือกาบบางๆ ซ้อนกันแบบใบไม้ซ้อนแยกแซะออกได้ เช่น ยิปซัม
17. แผ่นหรือเกล็ดบางๆ ( Micacaeous )
แร่เกิดเป็นแผ่นหรือเกล็ดบางมากซ้อนกันแน่น ลอกหรือแยกหลุดออกได้โดยง่าย เช่น ไมกา ฮีมาไทต์
18. ชั้นหรือแผ่นหนา ( Lamellar or Tabular )
ลักษณะแร่เป็นแผ่นหนาเกาะยึดกันติดกันแน่น แยกออกไม่ได้หรือได้ยาก เช่น วุลแฟรไมต์
19. มวลเมล็ด ( Granular )
เนื้อแร่มีลักษณะเป็นเมล็ดหรือเม็ดเล็กๆ เกาะกันแน่นแบบเม็ดน้ำตาล เช่น ยิปซัม แมกนีไทต์
20. รูปหินงอก ( Stalactitic )
แร่มีลักษณะเป็นแท่งรูปกระบอกหรือกรวย โดยการเคลือบพอกเซ้นต่อๆ กันไป เช่น คาลซิโดนี บางที รูปกระบอกเอนพาดก่ายกันไปมา ดูคล้ายตัวหนอน
21. เม็ดถั่วเขียว ( Pisolitic )
แร่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ ขนาดเม็ดถั่วเขียวเกาะกัน เช่น ไลมอไนต์
22. แถบหรือลาย ( Banded )
ลักษณะแร่เกิดเป็นแถบหรือลายบางๆ สีหรือเนื้อต่างกัน เช่น อะเกต
23. เม็ดไข่ปลา ( Oolitic )
แร่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ขนาดไข่ปลา
24. เนื้อสมานแน่น ( Massive )
แร่มีลักษณะเนื้อแน่นสมานกันสนิทจนดูไม่ออกว่าจะจัดเป็นแบบไหน
25. หินโพรงหรือจีโอต ( Geode )
แร่เกิดในรูปก้อนกลมข้างในเป็นโพรง มีแร่ตกผลึกหรืองอกอยู่ข้างในส่วนที่ติดผนังข้างในจะเป็นวงหรือลาย ซ้อนๆกัน เป็นแร่อะเกตและส่วนในสุดจะเป็นผลึกแร่ชัดเจนสวยงามวาวใสราวกับเพชรน้ำค้าง ส่วนมากเป็น
ผลึกควอ์ตซ์
|